วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ 
(Product  Life  Cycle  หรือ  PLC )

            วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์  หมายถึง  ขั้นตอนหรือประวัติการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่แสดงในรูปของยอดขายและกำไร  สินค้าทุกชนิดเมื่อเข้าสู่ตลาดจะมีประวัติการเจริญเติบโตของยอดขายทั้งสิ้น  เริ่มต้นจากขั้นแนะนำ  เข้าสู่ขั้นเจริญเติบโต  ขั้นอิ่มจนถึงขั้นถดถอย
                 

                 1.  ขั้นแนะนำ (Introduction  Stage)  เป็นขั้นนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด สินค้าทุกชนิดเมื่อเริ่มเข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรกก็จะต้องเริ่มต้นด้วยขั้นนี้  ซึ่งเป็นขั้นที่กิจการต้องทุ่มงบประมาณทั้งด้านการโฆษณา  ประชาสัมพันธ์  ส่งเสริมการขาย  และการขายโดยใช้พนักงานขายสูงมาก  เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
                นักการตลาดต้องบอกให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้โดยผ่านสื่อต่าง ๆ  ว่าเราเป็นสินค้าอะไร  มีชื่อยี่ห้อว่าอะไร  รูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นแบบไหน  หาซื้อได้ที่ไหน  เมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วจะได้รับประโยชน์อะไรจากการใช้สินค้าเรา  เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้  เกิดความสนใจ  อยากทดลองใช้และเกิดพฤติกรมการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
                2.  ขั้นเจริญเติบโต (Growth  Stage)  เป็นขั้นที่ตลาดมีการยอมรับผลิตภัณฑ์  ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เป็นช่วงที่กำไรเริ่มปรากฏซึ่งบริษัทจะได้กำไรอย่างมาก  ขณะเดียวกัน  คู่แข่งขันจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น  บริษัทต้องพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด
                ในขั้นตอนนี้นักการตลาดสามรถลดค่าใช้จ่ายด้านการส่งเสริมการตลาดลงได้หากกิจการต้องการประหยัดงบประมาณ  แต่มิใช่การหยุดโฆษณาเพียงแต่สามารถลดความถี่ในการลงโฆษณาลงได้  เพราะเป็นช่วงที่สินค้าเรากำลังติดตลาดและทำกำไรได้ดี
                3.  ขั้นอิ่มตัว  (Maturity  Stage)  หลังจากตลาดเจริญเติบโตก็จะเข้าสู่ขั้นอิ่มตัว  จึงเป็นช่วงที่มีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดมาก  ทั้งยังเป็นช่วงที่มีกำไรสูงสุดและเริ่มลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีการต่อสู้กับสินค้าคู่แข่ง
                ขั้นอิ่มตัวหากกิจการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถรักษาส่วนครองตลาดได้  ซึ่งนักการตลาดจะต้องหักมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้เพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  รุ่นใหม่  สีใหม่  กลิ่นใหม่  รสชาติใหม่ให้แตกต่างจากของคู่แข่งในตลาด  ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ยอดขายของผลิตภัณฑ์ลดลงไปถึงขั้นตกต่ำ  แต่กลับจะรักษาส่วนครองตลาดได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
                4.  ขั้นถดถอย  (Decline  Stage)  เป็นช่วงที่ยอดขายลดลงและกำไรเริ่มเป็นศูนย์  หากกิจการไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น  ยอดขายก็จะลดลงถึงขั้นตกต่ำและสินค้าก็จะต้องตายไปจากตลาด  เนื่องจากสินค้าขายไม่ได้หรือขายได้ก็เพียงเล็กน้อยโดยไม่ได้กำไรเลย  กิจการก็ไม่สามารถอยู่ได้  จึงควรปล่อยให้สินค้านั้นตายไปจากตลาด
                สิ่งที่นักการตลาดควรกระทำก็คือ  การลดงบประมาณการโฆษณาลง  และหันไปทำการส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาสินค้า  เพราะอย่างน้อยสินค้าที่ด้อยคุณภาพหรือล้าสมัยจนเสียชื่อเสียงไปแล้วอาจจะยังขายได้กับกลุ่มผู้ที่ต้องการสินค้าราคาประหยัดหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
                ผลิตภัณฑ์บางชนิดเมื่อเริ่มเข้าสู่ตลาดครั้งแรกในช่วงแนะนำ  ก็เข้าสู่ขั้นถดถอยโดยไม่ผ่านขั้นตอนอื่นเลย  สาเหตุอันเนื่องมาจากการไม่ศึกษาความต้องการของตลาด  แต่ผลิตภัณฑ์บางชนิดก็รักษาส่วนครองตลาดได้ดีเป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่มาถึงขั้นถดถอยนี้เลย  เพราะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องและมีการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
                ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เคยตายไปแล้วจากตลาดและมีความต้องการอยากนำกลับเข้ามาขายในตลาดอีกครั้งหนึ่ง  โดยคิดว่าสินค้านั้นเคยขายได้ดีและผู้บริโภคเคยรู้จักชื่อสินค้าแล้ว  อาจทำให้สินค้านั้นขายไม่ได้เลยเพราะผู้บริโภคจดจำได้ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าด้อยคุณภาพหรือล้าสมัยกิจการก็ไม่ควรพยายามนำกลับเข้ามาใสตลาดอีก  แต่ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอาจเปลี่ยนชื่อสินค้าใหม่ไปเลยจะดีกว่า  และเริ่มเข้าสู่ขั้นแนะนำใหม่  โอกาสที่จะเข้าสู่ขั้นเจริญเติบโต  ขั้นอิ่มตัวก็จะยังมีมากกว่าการนำสินค้าใหม่ก็จะทำให้สินค้านั้นเริ่มสร้างตัวเองเป็นวัฏจักรวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

ที่มา : http://www.staq.co.th
           www.wcs.ac.th/material/e-books.doc